วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

ควง อภัยวงศ์

พันตรี ควง อภัยวงศ์ หรือที่นิยมเรียกว่า นายควง อภัยวงศ์ (17 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2511) อดีตนายกรัฐมนตรีไทย 4 สมัย ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก
พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี พ.ศ. 2475 เคยมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงโกวิทอภัยวงศ์
พันตรีควง ถือเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งกระทรวงคมนาคมยุคใหม่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการคนแรก ด้วยประสบการณ์ที่เคยรับราชการจนมีตำแหน่ง เป็นถึง อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข นอกจากนี้พันตรีควง ยังเคย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ว่าการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตราธิการ และกระทรวงมหาดไทย อีกด้วย

ประวัติ

นายควง อภัยวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2445จังหวัดพระตะบอง ซึ่งขณะนั้นอยู่ใน มณฑลบูรพา ของราชอาณาจักรสยาม (ปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชา) เป็นบุตรของ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการจังหวัดพระตะบอง กับคุณหญิงรอด สมรสกับ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์
นายควงเคยรับราชการเป็น นายช่างผู้ช่วยโท แผนกกองช่างโทรเลข กรมไปรษณีย์โทรเลข จนได้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข
นายควงได้รับพระราชทานยศพันตรี ปฏิบัติหน้าที่ราชองครักษ์พิเศษ เมื่อคราวร่วมสงครามอินโดจีน พ.ศ. 2484 และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น หลวง โกวิทอภัยวงศ์ แต่ต่อมาได้ลาออกจาก บรรดาศักดิ์ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2484
ซึ่งในสงครามครั้งนี้ นายควงได้ทำหน้าที่เป็นนายทหารช่างผู้คุมงานก่อสร้างถนนไปเชียงตุง และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานการรับมอบดินแดนมณฑลบูรพาจากอินโดจีนฝรั่งเศสอีก ด้วย
นายควง อภัยวงศ์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2511 รวมอายุได้ 66 ปี ด้วยโรคทางเดินหายใจขัดข้อง

สกุลอภัยวงศ์

ดูบทความหลักที่ สกุลอภัยวงศ์
จากนามสกุลของนายควง คือ "อภัยวงศ์" เป็นสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์และเจ้าพระยาคฑาธรธรนินทร์ ซึ่งเป็นผู้ปกครองดินแดนมณฑลบูรพา ซึ่งเป็นเขตแดนในประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 จึงการผสมปนเประหว่างเชื้อสายไทยกับเชื้อสายเขมร จนไม่อาจแยกแยะได้ ครั้งหนึ่งเมื่อมีการเลือกตั้ง นายควง อภัยวงศ์ ถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่าบรรพบุรุษมิใช่คนไทยแต่เป็นคนเขมร ต่อคำถามข้อนี้ นายควงได้ชี้แจงในภายหลังในการแสดงปาฐกถาในปี พ.ศ. 2506 ชี้แจงถึงที่มาของสกุลและให้ผู้ฟังพิจารณาตัดสินเอาเอง เพราะตนเองมิอาจตัดสินได้[1] คนไทยปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ติดเชื้อสายเขมรซึ่งเราไม่ยอมเชื่อหรือยอมรับ เราทุกๆคนก็ไม่ต้องไปรบกวนหรือดูถูกเขมร บุญคุณและอิทธิพลของเขมรในไทยเป็นมหิมา

การศึกษา

ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

บทบาททางการเมืองในช่วงแรก

พันตรีควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี
พันตรีควง อภัยวงศ์ หรือ รองอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์ เป็นหนึ่งในสมาชิก คณะราษฎร สายพลเรือน ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เนื่องจากเป็นนักเรียนไทยในฝรั่งเศส รุ่นเดียวกับ นายปรีดี พนมยงค์ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พันตรีควง อภัยวงศ์ ขณะยังมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงโกวิทอภัยวงศ์ ได้เดินทางไปประชุมสากลไปรษณีย์ ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า พร้อมด้วย ขุนชำนาญ (หลุย อินทุโสภณ) เลขานุการ และเมื่อเดินทางกลับจาก ประเทศอาร์เจนติน่า ได้ไปดูงานโทรศัพท์อัตโนมัติที่ประเทศอังกฤษ และมีโอกาสเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่เครนไลน์ โดยพระเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยงอาหารค่ำ และได้ทรงตรัสถึงเรื่องต่างๆ ให้พันตรีควงได้รับรู้ และนับแต่ครั้งนั้น ความคิดความเห็นของพันตรีควง ก็เปลี่ยนไปเป็นอันมาก มักบ่นกับคนที่ชอบพอ และญาติใกล้ชิดว่า "เรามันผิดไปเสียแล้ว ควรที่จะถวายพระราชอำนาจคืน" (ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, 2511) ซึ่งข้อความนี้หนังสือพิมพ์บางฉบับได้นำไปโจมตีว่า พันตรีควงมีหัวนิยมเจ้า ทั้งๆ ที่บางฉบับกล่าวหาว่าพันตรีควงมีหัวโน้มเอียงไปทางคอมมิวนิสต์ (จรี เปรมศรีรัตน์, 2550)
ก่อนหน้าการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี พันตรีควง อภัยวงศ์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
  • การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาล พระยาพหลพลพยุหเสนา พันตรี ควง อภัยวงศ์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ พระยาพหลพลพยุหเสนา ใน คณะรัฐมนตรี ชุดที่ 6 - (22 กันยายน 2477 - 9 สิงหาคม 2480) ต่อมาคณะรัฐมนตรีชุดนี้สิ้นสุดลง เพราะเหตุที่ นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับการขายที่ดิน ของพระคลังข้างที่ ให้แก่บุคคลบางคน ต่อจากนั้น นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้เสนอญัตติ เปิดอภิปรายทั่วไปว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อภิปรายกันจนหมดเวลา และได้เลื่อนไปอภิปรายในวันต่อไป แต่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ได้กราบถวายบังคม ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้โอกาสแก่ทุกฝ่าย ได้สอบสวนตามความชอบธรรม (ลาออกเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2480 ประกาศลงวันที่ 9 สิงหาคม 2480)
ต่อมาพันตรีควง ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ พระยาพหลพลพยุหเสนา อีกครั้ง ใน คณะรัฐมนตรีคณะที่ 8 ของไทย (21 ธันวาคม 2480 - 16 ธันวาคม 2481) คณะรัฐมนตรีชุดนี้สิ้นสุดลง จากการยุบสภาผู้แทนราษฎร
  • การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากนั้นพันตรีควง ได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481 และไปดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นคนแรกของกระทรวง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2484 ในรัฐบาล นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (ยศ และบรรดาศักดิ์ในขณะนั้น) ใน คณะรัฐมนตรีคณะที่ 9 ของไทย (16 ธันวาคม 2481 - 7 มีนาคม 2485) คณะรัฐมนตรีคณะนี้สิ้นสุด เนื่องจาก นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เพื่อที่จะให้โอกาสได้มีการเปลี่ยนแปลง คณะรัฐมนตรี ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
พันตรีควง ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่ออีก ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2485 และไปดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2485 ในรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน คณะรัฐมนตรีคณะที่ 10 ของไทย (7 มีนาคม 2485 - 1 สิงหาคม 2487) ต่อมาพันตรีควง ลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2486
หลังจากนั้นอีก 1 ปีเศษคณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็สิ้นสุดลง เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎร ลงมติไม่อนุมัติ ร่างพระราชบัญญัติ อนุมัติ พระราชกำหนด ระเบียบบริหารราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พุทธศักราช 2487 (ย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปอยู่เพชรบูรณ์) และ ร่างพระราชบัญญัติ อนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล พุทธศักราช 2487 นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นายควง อภัยวงศ์ (ที่ 3 จากซ้ายแถวหน้า) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เยี่ยมชมสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487
นายควง อภัยวงศ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 พร้อมกับการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีคณะที่ 11 ของไทย ภายหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่ง การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นไปโดยสถานการณ์บังคับ จากการได้รับเลือกโดยสภาฯ ในขณะที่ไม่มีผู้อื่นยินดีรับตำแหน่ง เนื่องจากเกรงจะถูกรัฐประหารโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งนั้น นายควง ได้ปรึกษากับอธิบดีกรมตำรวจ และตัดสินใจเดินทาง ไปอธิบายกับ จอมพล ป. ถึงค่ายทหารที่ จังหวัดลพบุรี จนเป็นที่เข้าใจ และยอมรับของจอมพล ป. ที่จะสนับสนุนให้ นายควง ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ พร้อมกับการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ นายควง ยังดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กระทรวงคมนาคม อีกด้วย
รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ได้ประกาศสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 หลังจาก ประเทศญี่ปุ่น ประกาศยอมแพ้สงครามแล้ว 2 วัน โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ ลงนามในฐานะ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระบุให้ การประกาศสงครามต่อ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ของจอมพล ป. เป็นโมฆะ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในวันรุ่งขึ้น ด้วยเหตุผล เพื่อให้เป็นไปตามประเพณีนิยมแห่งวิถีการเมือง และเปิดโอกาสให้ผู้มีความเหมาะสม ในอันที่จะยังมิตรภาพ และดำเนินการเจรจา ทำความเข้าใจอันดีกับฝ่ายพันธมิตร ได้เข้าบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป
หลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ นายควง อภัยวงศ์ มี นายทวี บุณยเกตุ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณ 17 วัน และผู้มารับช่วงต่อคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน หัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เดินทางกลับมารับช่วงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 และดำเนินการเจรจา กับประเทศอังกฤษ ในขณะที่ นายปรีดี พนมยงค์ ประสานขอความสนับสนุน จากประเทศจีน ให้ช่วยรับรอง จนประเทศไทย สามารถพ้นจากสถานะ ประเทศผู้แพ้สงครามในที่สุด
ในระหว่างที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายควง อภัยวงศ์ ได้รับมอบหมายจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งข้าวให้อังกฤษ ซึ่งท่านทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ไม่มีการคอร์รัปชั่น จนทางอังกฤษเอ่ยชมเชย
หลังจากเจรจากับอังกฤษจนสำเร็จ และประเทศไทยพ้นสถานะประเทศผู้แพ้สงครามแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะสมาชิกสภาชุดที่ถูกยุบนั้นได้รับเลือกตั้งมา ตั้งแต่ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 แต่เมื่อหมดวาระ 4 ปียังไม่ได้เลือกตั้งใหม่ เพราะติดช่วงสงครามโลก
การเลือกตั้งมีขึ้นวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 นายควงได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีคณะที่ 14 ของไทย มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่หลังจากตั้งรัฐบาลได้เพียง 2 เดือน สภาฯ ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน (พ.ร.บ.ปักป้ายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ "พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว") ที่เสนอโดย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี (ผู้ใกล้ชิด นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เขตอุบลราชธานี) ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐบาลนายควง ไม่เห็นด้วยในหลักการ เนื่องจากไม่มีมาตรการ ในการควบคุมราคา คณะรัฐมนตรีได้แถลงให้สภาทราบแล้วว่า คณะรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติตาม ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้ และเกรงจะเป็นการเดือดร้อน แก่ประชาชนทั่วไป แต่สภาฯได้ลงมติรับหลักการ ด้วยคะแนน 65 ต่อ 63 เสียง รัฐมนตรีทั้งคณะจึงได้กราบถวายบังคม ลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2489 โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการสนับสนุนจากสภา ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และต่อมาได้ควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
หลังจากพ้นวาระในสมัยนี้แล้ว นายควง อภัยวงศ์ ได้ร่วมกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมทั้งนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง อาทิเช่น นายใหญ่ ศวิตชาต, นายเลียง ไชยกาล, ดร.โชติ คุ้มพันธ์, พระยาศราภัยพิพัฒ, นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ และ นายฟอง สิทธิธรรม ก่อตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 โดย นายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่ง หัว หน้าพรรคคนแรก มี ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นรองหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค และมี นายชวลิต อภัยวงศ์ น้องชายของท่านเป็น รองเลขาธิการพรรค มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น พรรคฝ่ายค้าน คานอำนาจ รัฐบาลนายปรีดี ที่ขณะนั้นมีอำนาจอย่างสูง เข้าแทนที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายควง อภัยวงศ์ รับดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 พร้อมทั้งรับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ หลังการรัฐประหาร เพื่อจัดการเลือกตั้ง วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2491 นับเป็น คณะรัฐมนตรีคณะที่ 19 มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรี หลังจัดการเลือกตั้งแล้วจึงพ้นวาระไป
นายควง อภัยวงศ์ กลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อเป็นสมัยที่ 4 เนื่องจากผลการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงข้างมาก นายควง ในฐานะหัวหน้าพรรค จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องอีกสมัย พร้อมทั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นับเป็น คณะรัฐมนตรีคณะที่ 20 มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นายชวลิต อภัยวงศ์ เป็น รัฐมนตรี แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 กลุ่มนายทหารชุดเดียวกับคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ก็บีบบังคับให้ท่านลาออก และ สภาฯ มีมติให้ท่าน พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 เรียกการปฏิวัติครั้งนี้ว่า "ปฏิวัติเงียบ" หลังการรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับเข้า ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่ง
ด้านหน้าอาคารควง อภัยวงศ์ ที่ทำการพรรคหลังแรก
หลังจากนั้น นายควง อภัยวงศ์ ยังคงอยู่ในแวดวงการเมือง ด้วยการนำพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯ อย่างแข็งขัน ในรัฐบาลหลายชุด ทั้ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยสุดท้าย, รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร
จนกระทั่งเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น และใช้ธรรมนูญการปกครองราช อาณาจักร พุทธศักราช 2502 แทน ซึ่งมีบทบัญญัติให้ยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมือง เป็นต้น ทำให้บทบาททางการเมืองของนายควงต้องยุติไปโดยปริยาย ซึ่งนายควงได้รอคอยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้น และตั้งความหวังไว้ว่าจะลงเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง แต่ได้อสัญกรรมลงเสียก่อน
นายควง อภัยวงศ์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคระบบทางเดินหายใจขัดข้อง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2511 ขณะอายุได้ 66 ปี โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
หลังการถึงแก่อสัญกรรมของท่าน พรรคประชาธิปัตย์ได้ก่อตั้ง มูลนิธิควง อภัยวงศ์ ขึ้น ตามเจตนารมณ์ของท่าน และให้ชื่ออาคารที่ทำการของพรรคหลังแรกว่า "อาคารควง อภัยวงศ์" เพื่อรำลึกถึงท่านด้วย

ผลงานที่สำคัญ

การประกาศสันติภาพ เมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ก่อนหน้านั้นมีความจำเป็นต้องประกาศสงคราม กับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ครั้นเมื่อท่านดำรงตำแหน่งก็ได้ประกาศให้การ ประกาศสงคราม ดังกล่าวเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ทำให้สัมพันธภาพของประเทศไทย กับกลุ่มประเทศสัมพันธมิตรดีขึ้น และในที่สุดส่งผลให้ประเทศไทย พ้นจากสภาพประเทศผู้แพ้สงคราม

วาทะเด็ดและฉายา

นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก ปราศรัยกับประชาชนที่ท้องสนามหลวง
นายควง อภัยวงศ์ ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่มีไหวพริบปฏิญาณในการพูด การปราศรัยดีเยี่ยม อีกทั้งยังมีมุขตลกสนุกสนานเป็นที่รู้จักกันอย่างดี จนได้ฉายามากมาย เช่น "นายกฯ ผู้ร่ำรวยอารมณ์ขัน" หรือ "จอมตลก" หรือ "ตลกหลวง" ซึ่งบางครั้ง ไหวพริบปฏิญาณและมุขตลกเหล่านี้ได้ช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติมาแล้วด้วย[2] จึงเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนในการปราศรัยอย่างมาก ตัวอย่างวาทะเด็ดของนายควง อภัยวงศ์ เช่น
Cquote1.svg
ข้าพเจ้า นายควง อภัยวงศ์ เชื่อในพุทธภาษิตที่ว่า 'อฺปปาปิ สนฺตา พหเก ชินนฺติ ' คนดีถึงแม้มีน้อยก็เอาชนะคนชั่วหมู่มากได้
Cquote2.svg
Cquote1.svg
วาจาสัตย์เท่านั้น ที่จะไม่ทำให้เราตกต่ำ
Cquote2.svg
นอกจากนี้แล้วยังได้รับฉายาว่า "นายกฯ เสื้อเชิร์ต" นอกจากท่านเป็นคนที่มีความเป็นอยู่ง่าย ๆ ไม่มีพิธีรีตรองอะไรมาก ในสมัยเป็นฝ่ายค้านรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เคยได้รับฉายาว่า "โหรหน้าสนามกีฬา" เนื่องจากมักออกมาทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ล่วงหน้าเสมอ ซึ่งบ้านพักของท่านก็อยู่ในซอยเกษมสันต์ หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น